logo

logo

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สารคดี "บ้านริมคลอง" (แสนแสบ-อัมพวา) ปี ๒๕๕๓

สารคดีชุดนี้ ทีมงานหลายคนต้องใช้ความทรหดอดทนมาก เพราะถ่ายทำนอกสถานที่หลายแห่ง โลเกชั่นดังกล่าวได้แก่ ริมคลองแสนแสบสองฝั่งตั้งแต่ย่านหัวหมากไปจรดย่านเมืองมีนบุรี ท้องทุ่ง(และควาย)แถวหนองจอก รวมทั้งคลองอัมพวา แม่กลอง สวนรีสอร์ต พิพิธภัณฑ์ขนมไทย เพื่อให้สารคดีเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่นับรวมกับการทุ่มเทแรงกายแรงใจของศิษย์ผู้พี่ อย่างพี่โย-อนุสรณ์ จิรทันตศิลป์และพี่เทพ-ศิวะเทพ แสงพรหม กับเบื้องหลังของตัวช่วยที่ทำให้งานนี้สำเร็จลง หากน้องๆศูนย์ข่าวรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความอุตสาหะนี้ ขอให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการผลิตสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

หนังสั้น "ใครคือคนผิด" ปี ๒๕๕๒

ศูนย์ข่าวเยาวชนไทยโรงเรียนเทพลีลา ได้สร้างสรรค์ผลงานหนังสั้นอีกหนึ่งเรื่อง หลังจากเข้ารับการอบรม ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เพื่อรณรงค์เรื่องความเสมอภาคหญิง-ชาย โดยหนังสั้นเรื่องนี้ได้นำเสนอในงาน "มหกรรมสู่ความเสมอภาคหญิง-ชาย" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๒ ซึ่งได้รับเสียงปรบมือกึกก้องและคำชมจากผู้ร่วมงานอย่างมาก

หนังสั้น "มองทำไม" ปี ๒๕๕๒

เมื่อศูนย์ข่าวเยาวชนไทยโรงเรียนเทพลีลาได้สร้างสรรค์ผลงานหนังสั้นที่บอกสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เพียงแค่มองหน้าเท่านั้น ปัญหาก็เกิดขึ้นแล้ว ลองชมทบทวนอีกครั้งว่าทุกวันนี้ยังเป็นเช่นนี้อยู่หรือไม่

"มองทำไม" หนังสั้นของศูนย์ข่าวฯเทพลีลาในสายตาองค์การแพลน

"มองหน้า"ที่มารุนแรงในร.ร.วอนผู้ใหญ่ช่วยแก้


"การเปิดโอกาสให้เยาวชนเป็นผู้นำเสนอความรุนแรงในโรงเรียนให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ คือจุดประสงค์โครงการ Young Hearts Youth Arts and Media Festival-สื่อจากวัยใส... เพื่อโรงเรียนไร้ความรุนแรง ขององค์การ แพลน(Plan)


เพราะทุกวันนี้สื่อกระแสหลักเป็นของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น การที่ผู้ใหญ่ได้เห็นน่าจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงได้ตรงจุดมากขึ้น" วริศรา ศรเพชร เจ้าหน้าที่การสื่อสารองค์กรแพลนเอเชีย กล่าว


รูปแบบของความรุนแรงในโรงเรียนในประเทศไทยที่พบเห็น คือ การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง การรังแกข่มเหงกันในหมู่เด็ก และความรุนแรงทางเพศ เช่น ภาคกลาง นักเรียนมองว่าความรุนแรงคือ ความกดดัน การแข่งขัน และความคาดหวัง ขณะที่ภาคเหนือ ความรุนแรงคือ การล้อเลียนชาติพันธุ์ ส่วนภาคอีสาน ความรุนแรงเกิดจากปัญหาครอบครัว เพราะพ่อแม่ต้องออกมาทำงานในกรุงเทพฯ ไม่มีเวลาเลี้ยงดูเด็ก


"กิ๊ฟ" กนกพร แดงวิจิตร นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต ตัวแทนศูนย์ข่าวเยาวชนไทย โรงเรียนเทพลีลา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของมองหน้า ที่มาของความรุนแรงในโรงเรียน เรื่องราวเด็กหญิงนักเรียนใหม่มองหน้าชายหนุ่มในโรงเรียน โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นกะเทยด้วยความปลาบปลื้มในความเก่ง หล่อ ขณะที่เพื่อนๆ สาวของชายหนุ่ม (กะเทย) เข้าใจว่ามองหน้าเพราะต้องการหาเรื่อง จึงเป็นสาเหตุของความรุนแรงในโรงเรียน ทั้งๆ ที่นักเรียนใหม่ไม่ได้มีเจตนา ให้เกิดความรุนแรง ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เป็นการนำเสนอให้สังคมรับรู้ว่า บางทีการมองหน้าด้วยความสนใจ และชื่นชม ก็เป็นสาเหตุของความรุนแรงในโรงเรียนได้เช่นกัน


"เป็นการบอกให้สังคมรับรู้ว่า บางทีความรุนแรงในสถานศึกษาก็มีสาเหตุมาจากเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกันด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งสมาชิกศูนย์ข่าวให้เวลาสำรวจความคิดเห็นนักเรียนในโรงเรียน 1 เดือนก่อนสรุปออกมาเป็นเรื่องนี้ และใช้เวลาถ่ายทำจนเสร็จประมาณ 3 เดือน" กิ๊ฟ กล่าว


จริงๆ แล้วยังมีหนังสั้นฝีมือของเด็กไทยอีก 19 เรื่อง ซึ่งจะมีการนำเสนอในนิทรรศการ สื่อจากวัยใส... เพื่อโรงเรียนไร้ความรุนแรง ที่สยามดิสคัฟเวอรี่และดิสคัฟเวอรี่พลาซ่า วันที่ 3-4 ตุลาคม ร่วมกับสื่อของเด็กและเยาวชน 6 ประเทศในแถบเอเชีย เป็นต้นว่า อินเดีย - ภาพยนตร์แอนิเมชั่น, การ์ตูน, สติกเกอร์, โปสการ์ด บังกลาเทศ - ละครเวที, สปอตโฆษณา, เรื่องสั้น, บทความ, โปสเตอร์


อินโดนีเซีย - วงดนตรี, เรื่องสั้น, บทกวี, โปสเตอร์, ภาพถ่าย ฟิลิปปินส์ - ภาพยนตร์สารคดีสั้น, สื่อประกาศสาธารณะ, ภาพถ่าย, โปสเตอร์ เวียดนาม - ภาพยนตร์สั้น, ซีดีเพลง, กล่องสีเทียนยุติความรุนแรง, หนังสือเกี่ยวกับวินัยเชิงบวก, โปสเตอร์ เนื้อหาทุกชิ้นงานมุ่งรณรงค์ยุติความรุนแรงในโรงเรียน เป็นปัญหาร่วมกันของเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลงานของเด็กไทยจะถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เพื่อให้รับรู้ในวงกว้างต่อไปอีกด้วย


วริศรา บอกว่า นอกจากนี้องค์การแพลนยังจะจัดอบรมให้แก่ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการสร้างวินัยทางบวกให้เหมาะสมต่อช่วงวัยและพัฒนาการของเด็ก แทนการลงโทษที่รุนแรง การบูรณาการหลักสูตรให้มีเนื้อหาที่ช่วยส่งเสริม หรือป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน หน่วยงาน หรือสถานศึกษา สนใจสื่อในโครงการหาดูได้ที่ www.plan-international.org














ที่มา คมชัดลึก 3 ต.ค. 2552